บทความดีๆจากสมาคมอุรุเวชช์แห่งประเทศไทย
คณะกรรมการ the GINA Science committee ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2002 เพื่อรวบรวมและทบทวนผลการค้นคว้าวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการดูแลรักษาและจัดการโรคหืด และมีการทบทวนซ้ำเป็นประจำทุกปีร่วมกับสมาคมอื่น ๆ เช่น American Thoracic Society (ATS) และ European Respiratory Society (ERS) และในปี 2018 นี้ทางคณะกรรมการก็ได้ออกเผยแพร่แนวทางเวชปฏิบัติ GINA guidelines ฉบับปรับปรุงใหม่
มีอะไรใหม่บ้างใน GINA 2018?
- ในส่วนของการประเมินโรคหืด (assessment of asthma) มีการขยายความเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคหืดที่เป็น ‘independent’ risk factors ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยหมายถึงความเสี่ยงต่อการกำเริบเฉียบพลันของโรคแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการของโรคหืดในขณะนั้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาพบข้อมูลว่าการมี “bronchodilator reversibility” ที่มากขึ้นนั้นบ่งชี้ถึงความเสี่ยงในการกำเริบเฉียบพลันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบความเสี่ยงในการเกิดการตีบแคบของหลอดลมอย่างถาวร (persistent airflow limitation) เพิ่มเติมด้วย ได้แก่ preterm birth, low birth weight และ greater infant weight gain
- ปัจจุบันการตรวจวัด exhaled nitric oxide (FeNO) มีความแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งใน guidelines ฉบับใหม่นี้ได้กล่าวถึงการนำเอา FeNO มาใช้ช่วยในการวินิจฉัย เลือกวิธีเริ่มการรักษาหรือปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาโรคหืด รวมไปถึงการใช้ช่วยในการจัดการรักษาโรคหืดในหญิงตั้งครรภ์ หรือโรคหืดในเด็กด้วย เนื่องจากมีหลักฐานที่มากขึ้นว่าการใช้ FeNO เพื่อตัดสินใจปรับการรักษานั้นช่วยลดโอกาสการกำเริบเฉียบพลันของโรคหืดได้อย่างชัดเจนในเด็ก (สำหรับในผู้ใหญ่ประโยชน์ของการใช้ FeNO ประกอบการรักษายังไม่ชัดเจน)
- การรักษาใน step 3 และ 4 ใน guidelines ฉบับใหม่นี้ยังคงเหมือนเดิม แต่มีการเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้ยาในกลุ่ม inhaled corticosteroids (ICS)/long-acting beta-2 agonist (LABA) ให้มีความชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น
- มีการเพิ่มยา benralizumab ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม monoclonal anti-IL-5 receptor ไว้ใน step 5 สำหรับผู้ป่วยที่เป็น eosinophilic asthma ที่มีอาการรุนแรง โดยให้ใช้ได้ในผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป
- มีการเพิ่มเติมคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธี allergen immunotherapy โดยเน้นให้ชัดเจนมากขึ้นด้วยว่าการตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีนี้มีความแตกต่างกันไปได้มากขึ้นกับชนิดของสารที่ใช้และวิธีการให้ดังนั้นจึงต้องมีการประเมินติดตามอย่างดี
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นทั้งโรคหืดและภูมิแพ้ในจมูกแต่ยังไม่ได้รับการรักษาด้วย ICS การใช้ยาในกลุ่ม nasal corticosteroid สามารถช่วยทำให้โรคหืดดีขึ้นได้ด้วย (แต่ถ้าได้รับ ICS อยู่แล้วการให้ nasal steroid ไม่มีผลต่อโรคหืด)
- มีการเพิ่มเติมความรู้เนื้อหาเกี่ยวกับอาการของโรคหืดที่สัมพันธ์กับการมีประจำเดือน (perimenstrual asthma) หรือ catamenial asthma
- มีการเน้นย้ำให้ชัดเจนว่า กรณีผู้ป่วยมีอาการของโรคเพิ่มขึ้นเฉียบพลัน ควรใช้ยาเฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น ไม่ควรนำยาชนิดบรรเทาอาการไปใช้แบบต่อเนื่อง
- มีการขยายความเกี่ยวกับ asthma-COPD overlap ที่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้นรวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยา ICS ในผู้ป่วย COPD ที่มีอาการของโรคหืดร่วมด้วยว่าค่อนข้างปลอดภัย
- สำหรับในเด็กกลุ่มก่อนเข้าโรงเรียน เด็กที่มีอาการของโรคหืดร่วมกับอาการแพ้ atopy ต่าง ๆ และตรวจเลือดพบว่ามี blood eosinophils เพิ่มขึ้น มีแนวโน้มจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ICS ขนาดกลางดีกว่าการใช้ยากลุ่ม leukotriene receptor antagonist (LTRA)
- การป้องกันโรคหืดสำหรับมารดาและทารก มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ supplement เพื่อป้องกันโรคหืดเช่น fish oil และ long-chain polyunsaturated fatty acid ในระหว่างการตั้งครรภ์ แต่ก็ยังไม่พบข้อสรุปชัดเจนว่าจะสามารถป้องกันการเกิด wheezing หรืออาการของ asthma/atopy ได้
Credit
https://www.thoracicsocietythai.org/2018/04/01/global-initiative-for-asthma-gina-guidelines-2018/